หน่วยการเรียนรู้ที่ 6

หน่วยการเรียนรู้ที่ 6  นวัตกรรมการเรียนการสอน

                          การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน
            แนวคิด
     การสอนแบบโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจของผู้เรียนอย่างลุ่มลึก โดยผ่านกระบวนการหลักคือ กระบวนการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง จึงเป็นการเรียนรู้จากการได้มีประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้

           ความหมายของการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน

     การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน คือ การจัดการสอนที่จัดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานให้แก่ผู้เรียนเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริงอย่างมีระบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้ทำการทดลอง ได้พิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง รู้จักการวางแผนการทำงาน ฝึกการเป็นผู้นำ ผู้ตาม ตลอดจนได้พัฒนากระบวนการคิดโดยเฉพาะการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking) และการประเมินตนเอง

            วัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน
1. มีประสบการณ์โดยตรง
2. ได้ทำการทดลองและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. รู้จักการทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน
4. ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
5. ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา
6. ได้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
7. ฝึกวิเคราะห์ และประเมินตนเอง

             การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็น กระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวิธีการต่างๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของ กลุ่มเป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกันได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจ อยากรู้ อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่ง ความรู้เบื้อง สามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับหลักการพัฒนาการคิดของ บลูม (Boom) ดังนี้
1. ความรู้ความจำ
2. ความเข้าใจ
3. การนำไปใช้
4. การวิเคราะห์
5. การสังเคราะห์
6. การประเมินค่า
การ เรียนรู้แบบโครงงาน และยังเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการ เรียนรู้ ตั้งแต่การวางแผนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสรรค์

                  กระบวนการจัดการเรียนรู้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การเริ่มต้นโครงงาน เป็นระยะที่ผู้สอนต้องสังเกต/สร้างความสนใจ ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เลือกเรื่องที่จะศึกษาร่วมกัน
ระยะที่ 2 การพัฒนาโครงงาน เป็นขั้นที่ผู้เรียนกำหนดหัวข้อคำถาม หรือประเด็นปัญหา แล้วตั้งสมมุติฐานเพื่อตอบคำถามเหล่านั้น
ระยะที่ 3 ขั้นสรุป เป็นระยะที่ผู้สอน และผู้เรียนแบ่งปันประสบการณ์ การทำงานและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จมีกิจกรรมที่ผู้เรียนดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้เรียนเขียนรายงานเป็นรูปแบบงานวิจัยเล็กๆ
2. ผู้เรียน นำเสนอผลงาน (แสดงเป็นแผงโครงงาน) ให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้ สรุปและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

              บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำโครงงาน

บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงงาน

           1. อาจารย์ผู้สอนวิชาโครงงาน

(1) ให้คำปรึกษา แนะนำ กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดหัวข้อโครงงาน และวิธีการเขียนโครงงาน

(2) จัดงบประมาณ อุปกรณ์สนับสนุนแต่ละโครงงาน

(3) ติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานของผู้เรียนแต่ละสัปดาห์

(4) เป็นกรรมการตรวจสอบโครงงาน

(5) รวบรวมผลการประเมินเพื่อตัดสินความสำเร็จในวิชาโครงงานของนักเรียน

(6) ประชาสัมพันธ์หรือจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานโครงงานไปสู่สาธารณชน และสถานประกอบการ

            2. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

(1) ให้ความรู้ด้านทฤษฎี หลักการ กระบวนการ วิธีการคิด และยุทธศาสตร์การคิด

(2) ให้คำแนะนำ ชี้แนะแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ และวิธีการดำเนินงานที่ถูกต้อง

(3) ให้ความรู้ ทักษะ และเทคนิคในการทำโครงงาน

(4) เป็นที่ปรึกษาโครงงาน

(5) เป็นกรรมการสอนโครงงานทั้งหมด ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

(6) ประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

(7) ติดตามผลและประเมินผลวิชาโครงงาน

               ประเภทของโครงงาน
มี 4 ประเภทได้แก่
          1. โครงงานประเภทสำรวจ (Survey Research Project)
โครงงานประเภทนี้ผู้เรียนเพียงแต่ต้องการสำรวจและรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ต้องการศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทนี้ เช่น

- การสำรวจประชากรและชนิดของผีเสื้อในบริเวณป่าเขามหาชัย

- การสำรวจพฤติกรรมของปลาตีนบริเวณป่าชายเลนของชายหาดอำเภอสิชล

- การสำรวจคุณภาพน้ำในคลองหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

- การสำรวจมลพิษของอากาศบริเวณสะพานลอยสี่แยกท่าวัง ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

           2. โครงงานประเภททดลอง (Experimental Research Project)
โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานที่มีการออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาผลของ ตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ต้องการศึกษา โดยควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อตัวแปรที่ต้องการศึกษาไว้

ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงงานประเภทนี้จะประกอบด้วยการกำหนดปัญหา การกำหนดจุดประสงค์ การตั้งสมมติฐาน การออกแบบการทดลอง การดำเนินการทดลอง การรวบรวมข้อมูล การตีความหมายข้อมูลและการสรุป ตัวอย่างโครงงานประเภทนี้ เช่น

- การเปรียบเทียบผลของสารเคมีที่มีผลต่อการพัฒนาการทางกายและการเจริญเติบโตของหนูขาว
- การศึกษาผลของความเข้มข้นของผงซักฟอกที่มีต่อพฤติกรรมของลูกน้ำ
- ผลของความเข้มข้นของแสงที่มีต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายหางกระรอก
- ผลของความเข้มข้นของสารละลายควันบุหรี่ (smoke solution) ที่มีต่อการงอกของเมล็ดข้าวโพด
- ผลของความเข้มสนามแม่เหล็กที่มีต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายหางกระรอก

           3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ (Development Research Project)
โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานเกี่ยวกับการประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือด้าน
อื่น ๆ มาประดิษฐ์ของเล่น เครื่องมือ เครื่องใช้หรืออุปกรณ์ เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ได้ อาจจะเป็นด้านสังคม หรือด้านวิทยาศาสตร์ หรือการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายแนวคิดต่าง ๆ ด้วย ตัวอย่างโครงงานประเภทนี้ ได้แก่

- โครงงานประดิษฐ์หุ่นยนต์เฝ้าประตูบ้าน
- โครงงานประดิษฐ์กระดิ่งไฟฟ้าไล่กระรอกในสวนเงาะ
- โครงงานประดิษฐ์สื่อการสอนวิชาภาษาไทย
- โครงงานประดิษฐ์ปิ่นโตอิเล็กทรอนิกส์
- แบบจำลองการใช้พลังงานความร้อนในโรงเพาะเห็ด
- แบบจำลองการวางผังบ่อน้ำพุในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

           4. โครงงานประเภททฤษฎี (Theoretical Research Project)
โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานนำเสนอทฤษฎี หลักการหรือแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของสูตรสมการ หรือคำอธิบายก็ได้ โดยผู้เสนอได้ตั้งกติกาหรือข้อตกลงขึ้นมาเอง แล้วนำเสนอทฤษฎี หลักการหรือแนวคิด หรือจินตนาการของตนเองตามกติกาหรือข้อตกลงนั้น หรืออาจจะใช้กติกาหรือข้อตกลงเดิมมาอธิบายก็ได้ ผลการอธิบายอาจจะใหม่ยังไม่มีใครคิดมาก่อน หรืออาจจะขัดแย้งกับทฤษฎีเดิม หรืออาจจะเป็นการขยายทฤษฎีหรือแนวคิดเดิมก็ได้ ซึ่งผู้ที่ทำโครงงานประเภทนี้ต้องมีพื้นฐานความรู้ ในเรื่องนั้น ๆ อย่างดี โครงงานประเภทนี้ ได้แก่ โครงงานทฤษฎีของเซต โครงงานทฤษฎีดาวเคราะห์น้อย โครงงานทฤษฎีการเกิดโลก โครงงานทฤษฎีการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร เป็นต้น

                   รูปแบบการจัดทำโครงงาน
1. ชื่อโครงงาน
2. คณะทำงาน
3. ที่ปรึกษา
4. แนวคิด / ที่มา / ความสำคัญ
5. วัตถุประสงค์ / จุดมุ่งหมาย
6. ขั้นตอนการดำเนินงาน / วิธีการศึกษา
7. แหล่ง / สถานศึกษา (ถ้ามี)
8. วัสดุ อุปกรณ์
9. งบประมาณ
10. ระยะเวลาการดำเนินงาน
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                ตัวอย่างโครงงาน

ชื่อโครงงาน : การแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยมือเรา

ชื่อผู้ทำโครงงาน :

ด.ช.ภูสิทธิ์ ใจดี

ด.ญ.พิมพ์ชนก มาลารัตน์

ด.ญ.มาศินี ด้วงขจาย

ระดับชั้น : มัธยมศึกษาตอนต้น

ชื่อครูที่ปรึกษา :  ดร.จิต นวนแก้ว อาจารย์นิตยา ทวีกิจการ  อาจารย์ณรัตน์ อรชร

โรงเรียนกัลยาณี ศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ปี พ.ศ.2551

ที่มาของโครงงาน

ไขมันอุดตันตามท่อระบายน้ำ ก็มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เราจึงนำการเรียนรู้ที่ได้มาแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับไขมันตามท่อระบายน้ำ

จุดมุ่งหมาย เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

สมมติฐาน การแก้ปัญหาไขมันตามท่อระบายน้ำ จะมีผลดีที่สุดสำหรับภาวะโลกร้อน

วิธีดำเนินงาน

- ปรึกษาวางแผนการแก้ปัญหาไขมันตามท่อ

- เริ่มการรณรงค์กับบุคลในสังคม

- จัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ

- ลงมือร่วมกันขัดถูท่อระบายน้ำในครัวเรือนและที่ชุมชน

- ทำแบบนี้ทุกอาทิตย์

- สังเกตผลโครงงาน

- รายงาน

- สรุป

ประโยชน์โครงงาน

- ลดภาวะโลกร้อนได้

- สร้างความมีระเบียบในครัวเรือน

- เพิ่มความสามัคคี

วิธีการทำโครงงาน
1. ประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับหัวข้อของโครงงาน จากสิ่งต่อไปนี้
- การสังเกต หรือตามที่สงสัย
- ความรู้ในวิชาต่าง ๆ
- จากปัญหาใกล้ตัว หรือการเล่น
- คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ หรือผู้รู้
2. เขียนหลักการ เหตุผล ที่มาของโครงงาน
3. ตั้งวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน
4. กำหนดวิธีการศึกษา เช่น การสำรวจ การทดลอง เป็นต้น
5. นำผลการศึกษามาอภิปรายกลุ่ม
6. สรุปผลการศึกษา โดยการอภิปรายกลุ่ม
7. ปรับปรุงชื่อโครงงาน ให้ครอบคลุม น่าสนใจ

ขั้นตอนในการสอนทำโครงงาน
การทำโครงงานเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องและมีการดำเนินงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย อาจสรุปลำดับได้ดังนี้

1. การคิดและเลือกหัวเรื่อง
2. การวางแผน
3. การดำเนินงาน
4. การเขียนรายงาน
5. การนำเสนอผลงาน

           1. การคิดและเลือกหัวเรื่อง
ผู้เรียนจะต้องคิดและเลือกหัวเรื่องของโครงงานด้วยตนเองว่าอยากจะศึกษาอะไร ทำไมจึงอยากศึกษา หัวเรื่องของโครงงานมักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของผู้เรียนเอง หัวเรื่องของโครงงานควรเฉพาะเจาะจงและชัดเจน เมื่อใครได้อ่านชื่อเรื่องแล้ว ควรเข้าใจและรู้เรื่องว่า โครงงานนี้ทำอะไร การกำหนดหัวเรื่องของโครงงานนั้น มีแหล่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดและสนใจ จากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น จากการอ่านหนังสือ เอกสาร บทความ การไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ การฟังบรรยายทางวิชาการ การเข้าชมนิทรรศการ หรืองานประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ การสนทนากับบุคลต่าง ๆ หรือจากการสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัว เป็นต้น นอกจากนี้ควรคำนึงถึงในเรื่องต

·วัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้·ความเหมาะสมของระดับความรู้ ความสามารถของผู้เรียน

·งบประมาณ

·ระยะเวลา

·ความปลอดภัย

·แหล่งความรู้

          2. การวางแผน
การวางแผนการทำโครงงาน จะรวมถึงการเขียนเค้าโครงของโครงงาน ซึ่งต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ ไม่สับสน แล้วนำเสนอต่อผู้สอน หรือครูที่ปรึกษา เพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการขั้นต่อไป

การเขียนเค้าโครงของโครงงาน โดยทั่วไปเขียนเพื่อแสดงแนวคิด แผนงานและขั้นตอนการทำโครงงาน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

(1) ชื่อโครงงาน ควรเป็นข้อความที่กะทัดรัด ชัดเจน สื่อความหมายได้ตรง

(2) ชื่อผู้ทำโครงงาน/ชั้น/ปีการศึกษา

(3) ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน

(4) หลักการและเหตุผลของโครงงาน เป็นการอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกทำ โครงงานเรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างไร มีหลักการหรือทฤษฎีอะไรที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ทำเป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นได้ศึกษา ค้นคว้าเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว ถ้ามีได้ผลเป็นอย่างไร เรื่องที่ทำได้ขยายเพิ่มเติมปรับปรุงจากเรื่องที่ผู้อื่นทำไว้อย่างไร หรือเป็นการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล

(5) จุดมุ่งหมาย/วัตถุประสงค์ ควรมีความเฉพาะเจาะจงและสามารถวัดได้ เป็นการบอกขอบเขตของงานที่จะทำได้ชัดเจนขึ้น

(6) สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี) สมมติฐานเป็นคำตอบ หรือคำอธิบายที่คาดไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ การเขียนสมมติฐานควรมีเหตุมีผล มีทฤษฎี หรือหลักการรองรับ และที่สำคัญคือเป็นข้อความที่มองเห็นแนวทางในการดำเนินการทดสอบได้ นอกจากนี้ควรมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตามด้วย

(7) วิธีดำเนินงาน/ขั้นตอนการดำเนินงาน จะต้องอธิบายว่าจะออกแบบการทดลองอะไร อย่างไร จะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง รวมทั้งระบุวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง

(8) แผนปฏิบัติงาน อธิบายเกี่ยวกับกำหนดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน

(9) ผลที่คาดว่าจะได้รับ

(10) เอกสารอ้างอิง

          3. การดำเนินงาน
เมื่อที่ปรึกษาโครงงานให้ความเห็นชอบเค้าโครงของโครงงานแล้ว ต่อไปก็เป็น ขั้นลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ ผู้เรียนต้องพยายามทำตามแผนงานที่วางไว้ เตรียมวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อม ปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบ คำนึงถึงความประหยัดและปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและข้อคิดเห็นอย่างไร พยายามบันทึกให้เป็นระเบียบและครบถ้วน

           4. การเขียนรายงาน
การเขียนรายงานเกี่ยวกับโครงงาน เป็นวิธีสื่อความหมายวิธีหนึ่งที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจถึงแนวคิด วิธีการดำเนินงาน ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น การเขียนโครงงานควรใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ชัดเจนและครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งหมดของโครงงาน

           5. การนำเสนอผลงาน
การนำเสนอผลงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำโครงงาน เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้น การนำเสนอผลงานอาจทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับประเภทของโครงงาน เนื้อหา เวลา ระดับของผู้เรียน เช่น การแสดงบทบาทสมมติ การเล่าเรื่อง การเขียนรายงาน สถานการณ์จำลอง การสาธิต การจัดนิทรรศการ ซึ่งอาจจะมีทั้งการจัดแสดงและการอธิบายด้วยคำพูด หรือการรายงานปากเปล่า การบรรยาย การใช้ CAI (Computer Assisted Instruction) การใช้ Multimedia Computer/ Homepage แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผลงานที่จัดแสดงต้องดึงดูดความสนใจของผู้ชม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และมีความถูกต้องของเนื้อหา

           การประเมินผลโครงงาน
การประเมินผลเป็นหัวใจของการเรียนการสอน ที่สะท้อนสภาพความสำเร็จของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลว่ากิจกรรมที่ทำไปนั้นบรรลุตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร ปัญหาและอุปสรรคที่พบคืออะไรบ้าง ได้ใช้วิธีการแก้ไขอย่างไร ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโครงงานนี้

         ผู้ประเมินโครงงานอาจดำเนินการด้วยบุคคล ต่อไปนี้ 

1) ผู้เรียนประเมินตนเอง

2) เพื่อนช่วยประเมิน

3) ผู้สอนหรือครูที่ปรึกษาประเมิน

4) ผู้ปกครองประเมิน

5) บุคคลอื่น ๆ ที่สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง

1) ผู้ประเมินซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้น อาจให้ข้อคิดเห็นสะท้อนภาพเพิ่มเติม เช่น ในระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อนอาจให้ความเห็นไปในเรื่องของการเรียน การใช้ตัวสะกด การันต์ วรรคตอน ซึ่งเน้นไปในด้านภาษา ระดับชั้นมัธยมศึกษา การประเมินโครงงาน อาจเริ่มขยายขอบเขตจากด้านการใช้ภาษา ออกไปถึงการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งชื่อโครงงานกับจุดประสงค์ของโครงงาน และตามความเข้าใจของผู้ประเมิน เสนอแนะวิธีการศึกษาของผู้ประเมินเพื่อการพิจารณาการจัดรูปเล่มเพื่อการนำเสนอโครงงาน ฯลฯ 1) ผู้เรียนประเมินตนเอง จะแสดงออกให้เห็นว่า ผู้เรียนเจ้าของโครงงาน ซึ่งอาจเป็นรายบุคคล หรือกลุ่มทำงาน มีความพึงพอใจต่อขั้นตอนของกิจกรรมแต่ละขั้นตอนที่ได้กำหนด หรือร่วมกันกำหนดขึ้นเองเพียงใด มีหัวข้อกิจกรรมใดที่ยังขาดตกบกพร่อง จะต้องเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง ความละเอียด รัดกุม ในแต่ละขั้นเป็นอย่างไร

2) ผู้ประเมินซึ่งเป็นผู้สอน หรือครูที่ปรึกษา อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้ในเรื่องวิธีการอื่นที่ใช้ในการศึกษาหาคำตอบ ความสัมพันธ์ของวิชาตามหัวเรื่องที่ศึกษากับวิชาอื่น ข้อค้นพบที่ผู้เรียนได้จากโครงงาน การนำคำตอบของการศึกษาที่ได้ไปใช้ประโยชน์ การนำ ข้อค้นพบที่ต่างไปจากเป้าหมายของการศึกษาไปใช้ประโยชน์หรือขยายผลการศึกษาเป็นโครงงานใหม่ ฯลฯ

3) ผู้ประเมินที่เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง จะได้รับทราบถึงความสามารถ ความถนัดทางการเรียนของลูกหรือเด็กในความปกครอง ความรู้สึก ความต้องการของเด็กผู้ทำโครงงาน ทำให้สามารถปรับตัวปรับใจเพื่อการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน กำลังใจ ให้โอกาส ให้เวลาร่วมกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก ชี้แนะอุปสรรค ปัญหาเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมขั้นต่าง ๆ ของโครงงาน ข้อเสนอแนะสำหรับการทำโครงงานครั้งต่อไป

            วิธีการประเมินผล
1. การสังเกต เป็นวิธีประเมินพฤติกรรมที่สามารถทำได้ทุกเวลาและสถานการณ์ ทั้งแบบมีและไม่มีเครื่องมือในการสังเกต
2. การสัมภาษณ์ การสอบถาม อาจมีลักษณะเป็นทางการ หรือสัมภาษณ์ สอบถาม ขณะปฏิบัติโครงงานก็ได้
3. วัดความรู้ ความสามารถ (Authentic Test) ควรเป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด เพื่อดูความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ความเข้าใจเดิม กับสิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ในการปฏิบัติโครงงาน

          ลักษณะของแฟ้มผลงานดีเด่นสำหรับโครงงาน
แฟ้มโครงงานควรมีลักษณะเป็นบทความที่แสดงออกถึงการมีขั้นตอนในการทำงานโครงงาน ความพยายามในการแก้ปัญหา หรือการศึกษาส่วนบุคคล ภายในแฟ้มโครงงานอาจประกอบด้วย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ยุทธวิธีในการปฏิบัติโครงงาน ภาพถ่ายของกระบวนการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ การแก้ปัญหาในการดำเนินงาน การผลิตตามโครงงาน บันทึกผลการทำงาน บันทึกความคิดเห็น ความรู้สึกส่วนตัวหรือของกลุ่ม ต่อโครงงานและบันทึกผลการประเมินผลโครงงาน

         ประโยชน์ของโครงงาน

1. กิจกรรมโครงงานเหมาะกับการศึกษาในยุคข้อมูลข่าวสาร

2. เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้เต็มที่

3. เกิดความรู้จริง ซึ่งได้จากการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการทดลอง ปฏิบัติค้นคว้า

4. สามารถใช้ความรู้ได้หลายด้าน (หลายมิติ)

5. เกิดปัญญาเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

6. ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น

7. ผู้เรียนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และเกิดความภูมิใจที่ทำงานสำเร็จ

8. ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานจากการเรียนรู้

9. ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นนักค้นคว้า (นักวิทยาศาสตร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น